พระราชดำรัสเรื่องการจัดการน้ำ หน้า 1

“...แต่โครงการนี้ เป็นโครงการที่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ แม้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่น้อย แต่ถ้าดำเนินการเดี๋ยวนี้ อีก 5-6 ปีข้างหน้า เราสบาย แต่ถ้าไม่ทำ อีก 5-6 ปีข้างหน้า ราคาค่าก่อสร้าง ค่าดำเนินการ ก็จะขึ้นไป 2 เท่า 3 เท่า ลงท้ายก็จะต้องประวิงต่อไป และเมื่อประวิงต่อไป เราก็จะไม่ได้ทำ เราก็จะอดน้ำแน่ จะกลายเป็นทะเลทราย แล้วเราจะอพยพไปที่ไหนก็ไม่ได้…”

“…เช่นเดียวกับที่เล่าให้ฟัง เรื่องโครงการแห่งหนึ่งที่ภาคเหนือ ที่สันกำแพง ไปดูสถานที่ ชาวบ้านเองก็ขอให้ทำ อ่างเก็บน้ำตรงนั้น คือห้วยลาน แล้วช่างก็บอกว่าทำได้ ทางส่วนราชการได้แก่ กรมชลประทาน กับสำนักเร่งรัดพัฒนาชนบท รพช. ร่วมกันช่วยทำ… ส่วนอ่างเก็บน้ำอันนั้นก็เสร็จภายใน 7-8 เดือน เก็บน้ำได้ ในปีต่อไป ไปดูปลูกข้าวได้แล้ว น้ำในหมู่บ้านมี ไม่ต้องเดิน 3 กิโลเมตร ไปตักน้ำที่อื่น ที่แหล่งน้ำอื่น ภายในปีหนึ่งประชาชนได้รับผลประโยชน์ของการกำจัดภัยแล้งที่ตรงนั้น ก็หมายความว่า ไม่ช้า ลงมือทำแล้วได้ผลนับว่าทันที…”
“... การพัฒนาแหล่งน้ำนั้น ในหลักใหญ่ก็คือ การควบคุมน้ำให้ได้ ดังประสงค์ ทั้งปริมาณ และคุณภาพ กล่าวคือ เมื่อมีปริมาณน้ำมากเกินไป ก็ต้องหาทางระบายออกให้ทันการณ์ ไม่ปล่อยให้เกิดความเสียหายได้ และในขณะที่เกิดภาวะขาดแคลน ก็จะต้องมีนำกักเก็บไว้ใช้อย่างเพียงพอ ทั้งมีคุณภาพเหมาะสมแก่การเกษตร การอุตสาหกรรมและการอุปโภคบริโภค ปัญหามีอยู่ว่าการพัฒนาแหล่งน้ำ อาจมีผลกระทบกระเทือนต่อสิ่งแวดล้อมบ้าง แต่ถ้าไม่มีการควบคุมน้ำที่ดีพอแล้ว เมื่อเกิดภัยธรรมชาติเกิดขึ้น ก็จะก่อให้เกิดความเดือดร้อน สูญเสีย ทั้งในด้านเศรษฐกิจและในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งส่งผลเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง …”

“...เคยพูดมาหลายปีแล้วในวิธีที่จะปฏิบัติเพื่อให้มีทรัพยากรน้ำพอเพียงและเหมาะสม คำว่าเพียงพอ ก็หมายความว่า ให้มีพอในการบริโภค ในการใช้ ทั้งในด้านการใช้บริโภคในบ้าน ทั้งใช้เพื่อการเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ต้องมีพอ ถ้าไม่มีพอทุกสิ่งทุกอย่างก็ชะงักลง แล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่เราภูมิใจว่า ประเทศเราก้าวหน้าเจริญ ก็ชะงัก ไม่มีทางที่จะมีความเจริญถ้าไม่มีน้ำ…”
“…การที่จะมีต้นน้ำลำธารไปชั่วกาลนานนั้น สำคัญอยู่ที่การรักษาป่าและปลูกป่าบริเวณต้นน้ำ ซึ่งเป็นยอดเขาและเนินสูงขึ้น ต้องมีการปลูกป่าโดยไม้ยืนต้น และปลูกไม้ฟืน ซึ่งไม้ฟืนนั้น ราษฎรสามารถตัดไปใช้ได้ แต่ต้องมีการปลูกทดแทนเป็นระยะ ส่วนไม้ยืนต้นจะช่วยให้อากาศมีความชุ่มชื้น เป็นขั้นตอนหนึ่งของระบบการให้ฝนตกแบบธรรมชาติ ทั้งยังช่วยยึดดินบนภูเขา ไม่ให้พังทลายเมื่อเกิดฝนตกอีกด้วย ซึ่งถ้ารักษาสภาพป่าไว้ดีแล้ว ท้องถิ่นจะมีน้ำไว้ใช้ชั่วกาลนาน”...

“... แต่มีวิธีที่จะทำได้ เพื่อบรรเทาสถานการณ์ เช่นทำฝนเทียม หมายความว่า ความชื้นที่ผ่านมาเหนือเขต เราดักเอาไว้ให้ลงได้ ปีนี้ทำมากพอใช้ ทำเป็นเวลาต่อเนื่องกันไปประมาณ ๓ เดือน ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ทำนั้น ต้องเหน็ดเหนื่อยมาก เพราะว่าเครื่องบินมีน้อย อุปกรณ์มีน้อย เจ้าหน้าที่ที่ทำฝนเทียมนั้น ต้องเสี่ยงอันตรายมาก เพราะเครื่องบินที่มีอยู่ก็เก่าแล้ว และชำรุดบ่อย …”

[ประปาไทย.คอม] [น้ำกับในหลวง] [โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ] [พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ] [พระราชดำรัสเรื่องการจัดการน้ำ หน้า 1  หน้า 2]

-ขอบคุณแหล่งข้อมูล:

  • พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนาการเกษตรไทย, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, อัมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พลับบลิชชิ่ง, กรุงเทพมหานคร, ธันวาคม ๒๕๓๙.
  • แหล่งข้อมูล: เครือข่ายกาญจนาภิเษก http://www.kanchanapisek.or.th